Dental specialist attaching white braces to patient teeth.
จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
ข้อมูลเกี่ยวกับ จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

การผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic Surgery) เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างของขากรรไกรและกระดูกใบหน้า ซึ่งส่งผลต่อการเคี้ยว การพูด การหายใจ หรือรูปลักษณ์ภายนอกของใบหน้า โดยการรักษามักทำร่วมกับการจัดฟันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในด้านการทำงานของขากรรไกร การบดเคี้ยว และความสวยงามของใบหน้า

ปัจจุบัน Surgery-First Approach (SFA) หรือแนวทางการผ่าตัดขากรรไกรก่อนการจัดฟัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วยลดระยะเวลาการรักษาและทำให้เห็นผลลัพธ์ได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงหน้าและการปรับปรุงการบดเคี้ยวทันทีหลังการผ่าตัด

เหตุผลที่ต้องทำการผ่าตัดขากรรไกร

ปัญหาด้านการทำงาน

  • การสบฟันผิดปกติ เช่น ฟันสบลึก ฟันล่างยื่น หรือฟันไม่สบกัน
  • ความยากลำบากในการเคี้ยว การกัด หรือการกลืน
  • ปัญหาการพูดที่เกิดจากขากรรไกรผิดตำแหน่ง
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (TMJ) เช่น อาการปวดหรือการเคลื่อนไหวที่จำกัด

ปัญหาด้านความสวยงาม

  • ใบหน้าไม่สมดุล เช่น ขากรรไกรไม่เท่ากัน คางเบี้ยว ยิ้มเห็นเหงือกเยอะ
  • คางถอยหรือขากรรไกรล่างยื่นมากเกินไป
  • การปรับสมดุลใบหน้าเพื่อให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น

ปัญหาด้านสุขภาพ

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) จากการอุดกั้นของทางเดินหายใจ
  • การหายใจทางปากเรื้อรัง
  • การสึกกร่อนหรือฟันแตกเนื่องจากการสบฟันผิดปกติ
ประเภทของการผ่าตัดขากรรไกร
  1. การผ่าตัดขากรรไกรบน (Maxillary Osteotomy) เพื่อแก้ไขปัญหาขากรรไกรบน
    เช่น ขากรรไกรบนเจริญเติบโตมากหรือน้อยเกินไป ฟันไม่สบกัน หรือฟันไขว้
  2. การผ่าตัดขากรรไกรล่าง (Mandibular Osteotomy) เพื่อแก้ไขปัญหาขากรรไกรล่าง
    เช่น คางถอยหรือขากรรไกรล่างยื่นเกินไป
  3. การผ่าตัดทั้งขากรรไกรบนและล่าง (Bimaxillary Osteotomy) ใช้แก้ไขปัญหาขากรรไกรที่ซับซ้อน
    เช่น ใบหน้าไม่สมดุล หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งขากรรไกรบนและล่าง
  4. การผ่าตัดแก้ไขรูปคาง (Genioplasty) ปรับตำแหน่งหรือรูปร่างของคางเพื่อให้ใบหน้าดูสมดุล
  5. การผ่าตัดแบ่งกระดูกขากรรไกร (Segmental Osteotomy) ใช้ในกรณีที่ต้องการปรับตำแหน่งฟันบางส่วน
ค่าบริการ 60,000-80,000 บาท
ให้บริการ ทุกวัน

แนวทางการรักษา

  1. Traditional Approach (การจัดฟันก่อนผ่าตัด)

ขั้นตอน:

  1. การจัดฟันก่อนผ่าตัด
  • ใช้เวลาประมาณ 12-24 เดือน เพื่อจัดฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด
  • ฟันจะถูกจัดเรียงเพื่อเตรียมสำหรับการปรับตำแหน่งขากรรไกร
  1. การผ่าตัด
  • ผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบในโรงพยาบาล โดยทำการผ่าตัดปรับตำแหน่งขากรรไกรตามแผนที่วางไว้ และยึดด้วยแผ่นโลหะและสกรูยึดกระดูก
  • ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 2-6 ชั่วโมง
  1. การจัดฟันหลังผ่าตัด
  • ใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน เพื่อปรับตำแหน่งฟันให้เข้ากับขากรรไกรใหม่

ข้อดี:

  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเรียงตัวของฟันและโครงสร้างขากรรไกรที่ซับซ้อน
  • ให้ความแม่นยำสูงในกระบวนการรักษา

ข้อเสีย:

  • ใช้ระยะเวลารวมในการรักษายาวนาน (2-3 ปี)
  • ผลลัพธ์ด้านความสวยงามต้องรอจนกว่าจะถึงช่วงหลังการผ่าตัด ซึ่งมีบางช่วงของการจัดฟันก่อนผ่าตัดที่อาจรู้สึกว่าใบหน้ามีความผิดปกติมากขึ้น 
  1. Surgery-First Approach (การผ่าตัดขากรรไกรก่อนการจัดฟัน)

ขั้นตอน:

  1. การวางแผนก่อนผ่าตัด
  • ใช้เทคโนโลยี 3 มิติและการจำลองผลลัพธ์ เพื่อกำหนดตำแหน่งขากรรไกรและฟันในอนาคต
  1. การผ่าตัด
  • ผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบในโรงพยาบาล โดยทำการผ่าตัดปรับตำแหน่งขากรรไกรตามแผนที่วางไว้ และยึดด้วยแผ่นโลหะและสกรูยึดกระดูก
  • ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 2-6 ชั่วโมง
  1. การจัดฟันหลังผ่าตัด
  • เริ่มการจัดฟันหลังการผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 6-12 เดือน

ข้อดี:

  • ระยะเวลาการรักษาสั้นลง (12-18 เดือน)
  • ผลลัพธ์ด้านความสวยงามและการทำงานเห็นผลทันที
  • เพิ่มความมั่นใจหลังผ่าตัดให้ผู้ป่วย

ข้อเสีย:

  • ต้องการการวางแผนที่ซับซ้อนและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ไม่เหมาะกับกรณีที่ฟันมีปัญหาการเรียงตัวของฟันและขากรรไกรบางอย่างที่มีความซับซ้อนมากๆ

ตารางเปรียบเทียบ Traditional Approach และ Surgery-First Approach

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดขากรรไกร

  1. การปรึกษาและวางแผนการรักษา
  • เข้ารับการตรวจและวางแผนโดยทีมทันตแพทย์จัดฟันและทันตแพทย์ศัลยกรรมช่องปากและใบหน้าขากรรไกร ร่วมทำการประเมิน วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย และร่วมกันวางแผนการรักษาโดยนำข้อมูลจากการตรวจทางคลินิก ภาพถ่าย X-ray และ CT scan
  • การจำลองผลลัพธ์เพื่อกำหนดตำแหน่งของขากรรไกรและฟันโดยใช้เทคโนโลยี 3 มิติในการวางแผน
  • การตรวจสุขภาพโดยรวม: เพื่อประเมินความพร้อมและเตรียมร่างกายก่อนการผ่าตัด
  1. การดูแลช่องปากก่อนผ่าตัด
  • เข้ารับการขูดหินปูน อุดฟัน และรักษาความสะอาดในช่องปาก เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
  • อาจต้องผ่าฟันคุดหรือถอนฟันที่ไม่มีความจำเป็นออกก่อน หรือบางกรณีสามารถผ่าตัดเอาออกไปพร้อมกับการผ่าตัดขากรรไกร
  1. การวางแผนอาหาร ตารางงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน 
  • เตรียมอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวสำหรับช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด
  • ทันตแพทย์ผ่าตัดจะแจ้งให้ทราบถึงกระบวนการผ่าตัด ระยะเวลาการฟื้นตัว และผลลัพธ์ที่คาดหวัง
  • หลังผ่าตัดแนะนำให้งดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักๆ การออกกำลังกายหนักๆ กิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนต่อขากรรไกร งานสำคัญที่ต้องพบปะผู้คน จึงแนะนำให้ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันและตารางงานให้เหมาะสมหลังผ่าตัด 

การดูแลหลังการผ่าตัด

  1. การพักฟื้นในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมักพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-3 วัน เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน
  2. การดูแลแผลผ่าตัด หลังผ่าตัดจะใช้การบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากและน้ำเกลือ เมื่ออ้าปากได้มากขึ้น ไม่มีเลือดไหลจากแผลผ่าตัด จะเริ่มให้แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันเด็ก ร่วมกับการใช้น้ำยาบ้วนปาก และหมั่นดูแลสุขอนามัยช่องปากอย่างระมัดระวัง
  3. อาหารและโภชนาการ
  • ช่วง 1-2 สัปดาห์แรก: อาหารเหลว  เช่น ซุป น้ำผลไม้ นม สมูทตี้
  • ช่วง 3-12 สัปดาห์: อาหารอ่อนนิ่ม เช่น โจ๊ก ไข่ตุ๋น ข้าวต้ม เกี๊ยมอี๋
    และสามารถเริ่มทานอาหารได้ปกติ (แต่ไม่แข็ง-กรอบ-เหนียว) เมื่อผ่าตัดไปแล้ว 3 เดือน
  1. การบริหารขากรรไกร เมื่ออาการปวดและบวมเริ่มลดลง จะสามารถอ้าปากได้ดีขึ้น และจำเป็นต้องทำการบริหารขากรรไกรตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนตัวของขากรรไกรให้ดีขึ้น
  2. การติดตามผล หลังผ่าตัดต้องเข้าพบทันตแพทย์ตามกำหนด เพื่อประเมินการหายของแผล ภาวะแทรกซ้อน การฟื้นตัวโดยรวม และการจัดฟันตามลำดับ


ผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงระยะสั้น

  1. อาการบวมและช้ำที่ผิวหนังใบหน้า คอ พบได้บ่อยในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด และอาการจะค่อยๆ ลดลงภายใน 4-6 สัปดาห์
  2. อาการปวดและตึงบริเวณขากรรไกร สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์สั่ง
  3. การเคลื่อนไหวของขากรรไกรได้จำกัด ซึ่งในช่วงแรกอาจอ้าปากได้ลำบาก เมื่อเวลาผ่านไปอาการบวมและปวดลดลง 
  4. การรับประทานอาหารยากลำบาก โดยต้องรับประทานอาหารเหลวในช่วง 1 เดือนแรก และอาหารอ่อนในช่วง 3 เดือนหลังผ่าตัด

 

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

  1. การติดเชื้อ แม้จะพบได้น้อย จึงจำเป็นต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากอย่างดี และได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อหลังผ่าตัด และควรทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง
  2. การบาดเจ็บของเส้นประสาท อาจเกิดอาการชาหรือรู้สึกไวผิดปกติบริเวณริมฝีปาก คาง ใต้ตา ข้างจมูก ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอาการชั่วคราว
  3. การเลื่อนตำแหน่งขากรรไกรกลับ (Relapse) อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับการดูแลหลังการผ่าตัดอย่างเหมาะสม ในบางรายทันตแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยางดึงขากรรไกรเพื่อบังคับให้ขากรรไกรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด บางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ
  4. ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (TMJ) อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือมีการเคลื่อนไหวของข้อต้อขากรรไกรที่ผิดปกติ
  5. ภาวะแทรกซ้อนจากการวางยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอ่อนเพลียจากยาดมสลบ มีเลือดออกจมูกและเจ็บคอจากการใส่ท่อช่วยหายใจ 

 

สรุป

การผ่าตัดขากรรไกรและการจัดฟันเป็นกระบวนการที่ต้องการการวางแผนอย่างละเอียดจากทีมทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเลือกแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย โดยTraditional Approach เหมาะสำหรับกรณีที่มีปัญหาการจัดเรียงฟันรุนแรง ขณะที่ Surgery-First Approach เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วและลดระยะเวลาการรักษา อย่างไรก็ตาม ทุกกรณีควรได้รับการประเมินอย่างละเอียดและดูแลติดตามผลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในระยะยาว

ทันตแพทย์บริการด้าน จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

4
ทพ. จักรพันธุ์ สามไพบูลย์
รากเทียม ผ่าฟันคุด ผ่าตัดขากรรไกร
10
ทพ. ปวัน กอบกิจสกุล
จัดฟันใส จัดฟันดามอน จัดฟันโลหะ
จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

เลือกภาษา